วันจันทร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2551

ความสำคัญและความเป็นมาของปัญหา

หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๔๔ เป็นหลักสูตรแกนกลางที่มีโครงสร้าง
ยืดหยุ่น กำหนดจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน ให้ผู้เรียนเป็นสมาชิก
ที่ดีของครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติ สอดคล้องกับความสามารถ ความถนัดและความต้องการของผู้เรียน การจัดการศึกษาจึงมุ่งเน้นการให้ความรู้ ให้ความคิด ให้มีความสามารถ และมีคุณธรรมโดยมีกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญให้ความสำคัญต่อความรู้เกี่ยวกับตนเองและความสัมพันธ์ของตนเองกับสังคม ได้แก่ ครอบครัว ชุมชน ชาติและสังคมโลก รวมทั้งความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของสังคมไทย ระบบการเมืองการปกครองในสังคมประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กระทรวงศึกษาธิการ, ๒๕๔๔: ๓)

จากจุดมุ่งหมายดังกล่าว กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม จึงจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของหลักสูตร โดยกำหนดรายวิชาที่เปิดสอน ได้แก่ ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม เศรษฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ โดยมุ่งสอนให้ผู้เรียนได้นำความรู้ต่างๆไปใช้ในชีวิตประจำวัน ผ่านทักษะการพูด การอ่าน การเขียน การคิดคำนวณ การวิเคราะห์ การแก้ปัญหาและการเชื่อมโยงกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ในอดีต ปัจจุบันและอนาคตด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ และวิธีการทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะวิชาประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นวิชาที่ต้องอาศัยการเรียนรู้จากประสบการณ์ในด้านต่างๆ ของมนุษย์ในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและวัฒนธรรมภายใต้มิติของเวลาและสถานที่ซึ่งอยู่ภายใต้ความเข้าใจอันดีระหว่างกลุ่มชนในสังคมนั้นๆ (กระทรวงศึกษาธิการ, ๒๕๔๔: ๗) จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน เนื่องจากวิธีการทางประวัติศาสตร์เป็นวิธีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนเกิดความรู้ด้วยตนเอง มีรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เป็นรูปธรรมมากกว่านามธรรม ทำให้ผู้เรียนมีเจตคติที่ดีต่อการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ซึ่งวิธีการทางประวัติศาสตร์เป็นวิธีสอนที่สนองการเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมนึก ปฏิปทานนท์ (๒๕๔๕: ๑๐๑)

ผู้วิจัยซึ่งเป็นครูผู้สอนวิชาสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม โรงเรียนหนองหว้า
ประชาสรรค์ อำเภอเบญจลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ มีประสบการณ์ในการสอน ๑๖ ปี พบว่า ปัญหาในการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ คือ เป็นการสอนที่เน้นความจำ ครูสอนโดยการบรรยายจน
ทำให้ผู้เรียนขาดการคิดวิเคราะห์ สอดคล้องกับคำกล่าวของ เฉลิม นิติเขตต์ปรีชา (๒๕๔๕: ๔-๕)
ที่กล่าวว่า การสอนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามีลักษณะเป็นการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมที่เป็นลักษณะการถ่ายทอดข้อมูล เป็นลักษณะประวัติศาสตร์สำเร็จรูป ครูมีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดความรู้ ซึ่งหากครูมีอคติ และลำเอียงในการถ่ายทอด จึงไม่สามารถสร้างความงอกงามทางด้านสติปัญญาของผู้เรียน แต่อาจเป็นผู้ทำลายผู้เรียน ดังนั้น ครูผู้สอนประวัติศาสตร์ยุคใหม่จึงควรเปลี่ยนแปลงวิธีการสอนโดยควรจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในลักษณะที่เป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ในด้านการคิดวิเคราะห์และการแปลความหมายของเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ผ่านกระบวนการเรียนการสอนที่สนองการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ผู้วิจัยจึงต้องการศึกษาผลการสอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ เรื่อง ประวัติศาสตร์น่ารู้ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ โรงเรียนหนองหว้าประชาสรรค์ อำเภอเบญจลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่สอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน
เพื่อประเมินทักษะกระบวนการกลุ่มของนักเรียนที่สอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ และเพื่อประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนที่สอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ ซึ่งมีขั้นตอนการเรียนรู้ ได้แก่ การกำหนดหัวข้อ ปัญหา หรือสมมติฐาน ที่เกิดขึ้นในอดีต การแสวงหาความรู้โดยการรวบรวมหลักฐานประเภทต่างๆทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษรและไม่เป็นลายลักษณ์อักษร การวิเคราะห์และประเมินคุณค่าของหลักฐานอย่างเป็นเหตุเป็นผล มีความเป็นกลางและปราศจากอคติ การตีความและการสังเคราะห์ข้อมูล โดยไม่ใช้ค่านิยมของตนเองไปตัดสินพฤติกรรมของคนในอดีต และการนำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์อย่างน่าสนใจ อธิบายอย่างสมเหตุสมผล

ไม่มีความคิดเห็น: