วันจันทร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2551

แนวคิดทฤษฎี

การนิยามประวัติศาสตร์

สมศักดิ์ ชูโต (๒๕๒๗: ๑๒); ธิดา สาระยา (๒๕๓๙: ๑๐-๑๑) และสมนึก ปฏิปทานนท์ (๒๕๔๕: ๑๐๐) ให้นิยามประวัติศาสตร์ สรุปได้ว่า ประวัติศาสตร์ หมายถึง การเรียนรู้เหตุการณ์ เรื่องราว หรือการกระทำของมนุษย์ในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและวัฒนธรรมภายใต้มิติของเวลาและสถานที่ซึ่งอยู่ภายใต้ความเข้าใจอันดีระหว่างกลุ่มชนในสังคมนั้นๆ ในการสอนประวัติศาสตร์ สามารถจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้หลายรูปแบบ เช่น วิธีการสอนแบบบรรยาย ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมแพร่หลายในอดีต แต่ในปัจจุบันการสอนประวัติศาสตร์ควรมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีทักษะการคิดวิเคราะห์เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ โดยการวิเคราะห์หลักฐานทางประวัติศาสตร์ทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษรและหลักฐานที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร รวมถึงการบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของผู้รู้ในท้องถิ่น







หลักการสอนประวัติศาสตร์

กระทรวงศึกษาธิการ (๒๕๔๖: ๙-๑๐) กล่าวถึง หลักการสอนประวัติศาสตร์ให้มีประสิทธิภาพว่า การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ต้องจัดกิจกรรมให้มีความหมาย โดยเน้นแนวคิดที่สำคัญ ให้ผู้เรียนสามารถนำไปใช้ทั้งในและนอกโรงเรียนได้ จัดในลักษณะบูรณาการ โดยเชื่อมโยงความรู้ เหตุการณ์ ทั้งในอดีตและปัจจุบันเข้าด้วยกัน โดยการใช้แหล่งเรียนรู้ สื่อเทคโนโลยีที่สัมพันธ์กับสาระต่างๆ จัดโดยเน้นการพัฒนาค่านิยม จริยธรรม สามารถนำไปใช้จริงในการดำเนินชีวิต รับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม และจัดโดยเน้นการปฏิบัติ เพื่อพัฒนาให้ผู้เรียนได้คิดและตัดสินใจ สร้างสรรค์ความรู้ของตัวเอง และในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ควรจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นการปฏิบัติ เพื่อพัฒนาให้ผู้เรียนได้คิดและตัดสินใจ เป็นการส่งเสริมทักษะการคิดวิจารณญาณ และการคิดวิเคราะห์ จัดประเด็นหัวข้อที่ศึกษาให้มีแนวคิดกว้างขวาง เพื่อให้ผู้เรียนได้เลือกศึกษาด้วยตัวเอง สามารถชี้นำตัวเองได้ โดยกิจกรรมที่จัดควรยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ คือ ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ โดยให้ผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้ สร้างความหมายของสาระข้อความรู้ และค้นพบความรู้ด้วยตัวเอง โดยการศึกษาทำความเข้าใจ วิเคราะห์ แปลความหมาย สังเคราะห์ และสรุปความ ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ทั้งในแง่ของปริมาณในการมีส่วนร่วม และคุณภาพของกระบวนการ ให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันและกัน โดยการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ ความคิด และประสบการณ์

จากหลักการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนดังกล่าว สอดคล้องกับวิธีการทางประวัติศาสตร์ ซึ่งชาญวิทย์ เกษตรศิริ (อ้างในไพศาล เรียนทัพ, ๒๕๔: ๑๔); สมนึก ปฏิปทานนท์ (๒๕๔๕: ๑๐๐) และเฉลิม นิติเขตต์ปรีชา (๒๕: ๑๑๗-๑๑๙) ให้นิยามวิธีการทางประวัติศาสตร์ สรุปได้ว่า วิธีการสอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ เป็นวิธีการที่สามารถนำมาใช้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนในวิชาประวัติศาสตร์ทุกระดับชั้น แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้เรียนและวุฒิภาวะของผู้เรียนเป็นหลัก ซึ่งวิธีการทางประวัติศาสตร์สามารถสร้างทักษะในการดำเนินชีวิตอยู่ในสังคม โดยการใช้ประโยชน์จากการศึกษาที่มีเหตุผล และสามารถวิเคราะห์เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์สังเคราะห์จากข่าวสาร หรือเรื่องราวต่างๆ ที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตที่ดีและมีคุณภาพ ประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ ดังนี้

๑. การกำหนดหัวข้อ ปัญหา หรือสมมติฐาน เป็นการกำหนดเป้าหมายหรือประเด็นคำถามที่ต้องการศึกษา ในขอบเขตของคำถามเกี่ยวกับการศึกษาอะไร ช่วงเวลาไหน สมัยใด เพราะเหตุใด

๒. การแสวงหาความรู้โดยการรวบรวมหลักฐานประเภทต่างๆ เป็นการรวบรวมหลักฐานทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษรและไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งแก่ได้วัตถุโบราณ ร่องรอยถิ่นที่อยู่อาศัยหรือการดำเนินชีวิต

๓. การวิเคราะห์และประเมินคุณค่าของหลักฐาน เป็นการตรวจสอบ ประเมินค่าความน่าเชื่อถือของหลักฐาน และการตีความหลักฐานอย่างเป็นเหตุเป็นผล มีความเป็นกลาง และปราศจากอคติ

๔. การตีความและสังเคราะห์ข้อมูล เป็นการสรุปข้อเท็จจริงเพื่อหาคำตอบ ด้วยการเลือกสรรข้อเท็จจริงจากหลักฐานอย่างเคร่งครัด โดยไม่ใช้ค่านิยมของตนเอง ไปตัดสินพฤติกรรมของคนในอดีต โดยพยายามเข้าใจความคิดของคนในยุคนั้น

๕. การนำเสนอข้อมูล เป็นการเสนอเรื่องที่ศึกษาอย่างน่าสนใจ อธิบายอย่างสมเหตุสมผล โดยใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายมีความต่อเนื่อง มีการอ้างอิงข้อเท็จจริงเพื่อให้ได้งานทางประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าและมีความหมาย

ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่มีคุณภาพนอกจากวิธีการสอนที่สอดคล้องกับกิจกรรมการเรียนการสอนแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ส่งผลต่อคุณภาพของกิจกรรมการเรียนการสอน คือ การวัดผลประเมินกิจกรรม ซึ่งการวัดผลประเมินผลการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ กระทรวงศึกษาธิการ (๒๕๔๖: ๑๔-๑๗) กล่าวว่า หลักการวัดผลประเมินผลวิชาประวัติศาสตร์ควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงความสามารถที่แท้จริงออกมา สะท้อนให้เห็นแรงจูงใจและความตั้งใจในการเรียนรู้ พร้อมทั้งส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักกำกับและดูแลการประเมินการเรียนรู้ด้วยตัวเอง การประเมินจากการตัดสินผลการเรียนไม่ควรใช้ข้อมูลจากผลการสอบจากแบบทดสอบเพียงอย่างเดียว เพราะจะไม่เป็นธรรมกับผู้เรียนที่มีความหลากหลายด้านความสามารถ และคุณธรรม เพื่อให้การวัดผลประเมินผลเป็นไปตามหลักการดังกล่าว ในการประเมินการเรียนการสอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ เรื่อง ประวัติศาสตร์น่ารู้ ครูผู้สอนจึงประเมินผู้เรียนโดยการใช้เครื่องมือที่หลากหลาย ได้แก่ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบประเมินทักษะกระบวนการกลุ่ม และแบบประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ โดยกำหนดเกณฑ์การให้คะแนนแบบประเมินทักษะกระบวนการกลุ่มเป็นแบบผลรวม และกำหนดเกณฑ์การให้คะแนนแบบประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์เป็นแบบแยกส่วน


ไม่มีความคิดเห็น: