วันจันทร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2551

ประวัติผู้วิจัย

นางอรวรรณ หลอมทอง
ครูชำนาญการ
กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม
โรงเรียนหนองหว้าประชาสรรค์ อำเภอเบญจลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ
ผลของการสอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
เรื่อง ประวัติศาสตร์น่ารู้ ในรายวิชา ส๔๑๑๐๑ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔
โรงเรียนหนองหว้าประชาสรรค์ จังหวัดศรีสะเกษ

The Effects of Teaching by using the Historical Method on the Achievement
on the Topic of Interesting History in Soc๔๑๑๐๑ of Mathayomsuksa IV Students
at Nongwahprachasan School in Srisaket Province

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ๑) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่สอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน ๒) ประเมินทักษะกระบวนการกลุ่มของนักเรียน
ที่สอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ ๓) ประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนที่สอนด้วยวิธีการ
ทางประวัติศาสตร์

การดำเนินการวิจัยมีขั้นตอนการดำเนินงาน ดังนี้ ๑) สุ่มกลุ่มตัวอย่างในการวิจัย เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ ปีการศึกษา ๒๕๕๑ โรงเรียนหนองหว้าประชาสรรค์ อำเภอเบญจลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน ๔๕ คน ๒) สร้างเครื่องมือในการวิจัย ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์
มีประสิทธิภาพ ๘๓.๕๗/๘๑.๓๙ ๓) สร้างเครื่องมือเพื่อตรวจสอบคุณภาพของแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการ
ทางประวัติศาสตร์ ประกอบด้วย แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ มีค่าความเที่ยงเท่ากับ ๐.๘๓ แบบประเมินทักษะกระบวนการกลุ่มเพื่อประเมินทักษะกระบวนกลุ่ม และแบบประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์เพื่อประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนที่สอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์

ผลการวิจัยพบว่า ๑) คะแนนเฉลี่ยของนักเรียนที่สอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ เรื่อง ประวัติศาสตร์น่ารู้ หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๕ ๒) ร้อยละ ๘๐ ของนักเรียนที่สอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ มีทักษะกระบวนการกลุ่ม ในประเด็น การกำหนดประเด็นปัญหา การค้นหาและรวบรวมหลักฐาน การวิเคราะห์หลักฐาน การสรุปข้อเท็จจริง และการนำเสนอผลงาน ๓) ร้อยละ ๘๐
ของนักเรียนที่สอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ในประเด็น การใฝ่รู้ใฝ่เรียน
ความมีวินัยและความรับผิดชอบ

Abstracts

The research objectives were ๑) to compare the achievement scores before and after teaching by using the historical method ๒) to assess the group process skill of students by teaching the historical method ๓) to assess the suitable characteristic of students by teaching
the historical method.

The method of research were ๑) Sampling random ๔๕ Mathayomsuksa IV Students of the ๒๐๐๘ academic year at Nongwahprachasan School in Benjaluk, Srisaket Province
๒) To construc an implement for research whit the lesson plans by historical method was
๘๓.๕๗/๘๑.๓๙ efficiency ๓) To construc an implement for to examine plans by historical method whit
the achievement test was reliability ๐.๘๓, the group process skill test for to assess the group process skill and the suitable characteristic test for to assess the suitable characteristic of students by teaching the historical method.

The result of research were ๑) The achievement scores after hingher was than before teaching by the historical method on the topic of interesting history at the statistical significance at .๐๕. ๒) ๘๐% of students by teaching the historical method have the group process skill with the setting up problem or hypothesis, the data collection, the data analysis & evaluation, the data interpretation & synthesis and the presentation. ๓) ๘๐% of students by teaching the historical method have the suitable characteristic with in the attend to study, the discipline and the responsible.

ความสำคัญและความเป็นมาของปัญหา

หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๔๔ เป็นหลักสูตรแกนกลางที่มีโครงสร้าง
ยืดหยุ่น กำหนดจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน ให้ผู้เรียนเป็นสมาชิก
ที่ดีของครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติ สอดคล้องกับความสามารถ ความถนัดและความต้องการของผู้เรียน การจัดการศึกษาจึงมุ่งเน้นการให้ความรู้ ให้ความคิด ให้มีความสามารถ และมีคุณธรรมโดยมีกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญให้ความสำคัญต่อความรู้เกี่ยวกับตนเองและความสัมพันธ์ของตนเองกับสังคม ได้แก่ ครอบครัว ชุมชน ชาติและสังคมโลก รวมทั้งความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของสังคมไทย ระบบการเมืองการปกครองในสังคมประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กระทรวงศึกษาธิการ, ๒๕๔๔: ๓)

จากจุดมุ่งหมายดังกล่าว กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม จึงจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของหลักสูตร โดยกำหนดรายวิชาที่เปิดสอน ได้แก่ ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม เศรษฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ โดยมุ่งสอนให้ผู้เรียนได้นำความรู้ต่างๆไปใช้ในชีวิตประจำวัน ผ่านทักษะการพูด การอ่าน การเขียน การคิดคำนวณ การวิเคราะห์ การแก้ปัญหาและการเชื่อมโยงกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ในอดีต ปัจจุบันและอนาคตด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ และวิธีการทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะวิชาประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นวิชาที่ต้องอาศัยการเรียนรู้จากประสบการณ์ในด้านต่างๆ ของมนุษย์ในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและวัฒนธรรมภายใต้มิติของเวลาและสถานที่ซึ่งอยู่ภายใต้ความเข้าใจอันดีระหว่างกลุ่มชนในสังคมนั้นๆ (กระทรวงศึกษาธิการ, ๒๕๔๔: ๗) จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน เนื่องจากวิธีการทางประวัติศาสตร์เป็นวิธีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนเกิดความรู้ด้วยตนเอง มีรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เป็นรูปธรรมมากกว่านามธรรม ทำให้ผู้เรียนมีเจตคติที่ดีต่อการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ซึ่งวิธีการทางประวัติศาสตร์เป็นวิธีสอนที่สนองการเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมนึก ปฏิปทานนท์ (๒๕๔๕: ๑๐๑)

ผู้วิจัยซึ่งเป็นครูผู้สอนวิชาสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม โรงเรียนหนองหว้า
ประชาสรรค์ อำเภอเบญจลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ มีประสบการณ์ในการสอน ๑๖ ปี พบว่า ปัญหาในการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ คือ เป็นการสอนที่เน้นความจำ ครูสอนโดยการบรรยายจน
ทำให้ผู้เรียนขาดการคิดวิเคราะห์ สอดคล้องกับคำกล่าวของ เฉลิม นิติเขตต์ปรีชา (๒๕๔๕: ๔-๕)
ที่กล่าวว่า การสอนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามีลักษณะเป็นการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมที่เป็นลักษณะการถ่ายทอดข้อมูล เป็นลักษณะประวัติศาสตร์สำเร็จรูป ครูมีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดความรู้ ซึ่งหากครูมีอคติ และลำเอียงในการถ่ายทอด จึงไม่สามารถสร้างความงอกงามทางด้านสติปัญญาของผู้เรียน แต่อาจเป็นผู้ทำลายผู้เรียน ดังนั้น ครูผู้สอนประวัติศาสตร์ยุคใหม่จึงควรเปลี่ยนแปลงวิธีการสอนโดยควรจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในลักษณะที่เป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ในด้านการคิดวิเคราะห์และการแปลความหมายของเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ผ่านกระบวนการเรียนการสอนที่สนองการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ผู้วิจัยจึงต้องการศึกษาผลการสอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ เรื่อง ประวัติศาสตร์น่ารู้ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ โรงเรียนหนองหว้าประชาสรรค์ อำเภอเบญจลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่สอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน
เพื่อประเมินทักษะกระบวนการกลุ่มของนักเรียนที่สอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ และเพื่อประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนที่สอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ ซึ่งมีขั้นตอนการเรียนรู้ ได้แก่ การกำหนดหัวข้อ ปัญหา หรือสมมติฐาน ที่เกิดขึ้นในอดีต การแสวงหาความรู้โดยการรวบรวมหลักฐานประเภทต่างๆทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษรและไม่เป็นลายลักษณ์อักษร การวิเคราะห์และประเมินคุณค่าของหลักฐานอย่างเป็นเหตุเป็นผล มีความเป็นกลางและปราศจากอคติ การตีความและการสังเคราะห์ข้อมูล โดยไม่ใช้ค่านิยมของตนเองไปตัดสินพฤติกรรมของคนในอดีต และการนำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์อย่างน่าสนใจ อธิบายอย่างสมเหตุสมผล

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

๑. เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่สอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน
๒. เพื่อประเมินทักษะกระบวนการกลุ่มของนักเรียนที่สอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์
๓. เพื่อประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนที่สอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์

สมมติฐานการวิจัย

ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่สอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน

ขอบเขตของการวิจัย

๑. ประชากร นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ กลุ่มตรวจราชการเบญจลักษ์ อำเภอเบญจลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน ๒ โรงเรียน จำนวนนักเรียน ๑­๘๐ คน
๒. กลุ่มตัวอย่าง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ โรงเรียนหนองหว้าประชาสรรค์ อำเภอเบญจลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ปีการศึกษา ๒๕๕๑ จำนวน ๔๕ คนโดยการสุ่มแบบเจาะจง
๓. เนื้อหาที่ใช้สอนในการทดลอง คือ ประวัติศาสตร์น่ารู้ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔
๔. ตัวแปรที่ใช้ในการทดลอง
๔.๑ ตัวแปรต้น ได้แก่ วิธีสอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์
๔.๒ ตัวแปรตาม ได้แก่ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ในรายวิชา ส๔๑๑๐๑
เรื่อง ประวัติศาสตร์น่ารู้ ของนักเรียนที่สอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์
๕. ระยะเวลาที่ใช้ในการทดลอง
ทำการทดลองในภาคเรียนที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๕๑

นิยามศัพท์

วิธีการทางประวัติศาสตร์ หมายถึง กระบวนการในการแสวงหาข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ซึ่งเกิดจากวิธีวิจัยเอกสาร เพื่อให้ได้มาซึ่งองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์ บนพื้นฐานความเป็นเหตุเป็นผล และการวิเคราะห์เหตุการณ์ต่างๆอย่างเป็นระบบ ประกอบด้วยขั้นตอนๆต่างดังนี้

๑. การกำหนดหัวข้อ ปัญหา หรือสมมติฐาน เป็นการกำหนดเป้าหมายหรือประเด็นคำถามที่ต้องการศึกษา ในขอบเขตของคำถามเกี่ยวกับการศึกษาอะไร ช่วงเวลาไหน สมัยใด เพราะเหตุใด

๒. การแสวงหาความรู้โดยการรวบรวมหลักฐานประเภทต่างๆ เป็นการรวบรวมหลักฐานทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษรและไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งแก่ได้วัตถุโบราณ ร่องรอยถิ่นที่อยู่อาศัยหรือการดำเนินชีวิต

๓. การวิเคราะห์และประเมินคุณค่าของหลักฐาน เป็นการตรวจสอบ ประเมินค่าความน่าเชื่อถือของหลักฐาน และการตีความหลักฐานอย่างเป็นเหตุเป็นผล มีความเป็นกลาง และปราศจากอคติ

๔. การตีความและสังเคราะห์ข้อมูล เป็นการสรุปข้อเท็จจริงเพื่อหาคำตอบ ด้วยการเลือกสรรข้อเท็จจริงจากหลักฐานอย่างเคร่งครัด โดยไม่ใช้ค่านิยมของตนเอง ไปตัดสินพฤติกรรมของคนในอดีต โดยพยายามเข้าใจความคิดของคนในยุคนั้น

๕. การนำเสนอข้อมูล เป็นการเสนอเรื่องที่ศึกษาอย่างน่าสนใจ อธิบายอย่างสมเหตุสมผล โดยใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย มีความต่อเนื่อง มีการอ้างอิงข้อเท็จจริงเพื่อให้ได้งานทางประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าและมีความหมาย

ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หมายถึง คะแนนของนักเรียนที่ได้จากการทดสอบวิชา ส๔๑๑๐๑ เรื่อง ประวัติศาสตร์น่ารู้ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ ซึ่งผู้วิจัยได้สร้างแบบทดสอบโดยการวิเคราะห์เนื้อหาวิชาประวัติศาสตร์ตามหลักสูตรขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๔๔

ทักษะกระบวนการกลุ่ม หมายถึง ความสามารถในการทำงานเป็นกลุ่ม โดยพิจารณาจากการมีส่วนร่วมในการเรียนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ตามขั้นตอน ดังนี้ มีส่วนร่วมในการกำหนดหัวข้อ ปัญหา หรือสมมติฐาน มีส่วนร่วมในแสวงหาความรู้ โดยการรวบรวมหลักฐาน มีส่วนร่วมในการวิเคราะห์และประเมินคุณค่าของหลักฐาน มีส่วนร่วมในการตีความและสังเคราะห์ข้อมูล และมีส่วนร่วมในการนำเสนอข้อมูล

คุณลักษณะอันพึงประสงค์ หมายถึง ลักษณะที่ดีที่นักเรียนแสดงออกตามช่วงวัยในด้าน การใฝ่รู้ใฝ่เรียน ความมีวินัย และความรับผิดชอบ ซึ่งในแต่ละด้านมีการกำหนดพฤติกรรมที่ประเมิน ดังนี้

การใฝ่รู้ใฝ่เรียน ประกอบด้วย การมาเรียนทุกครั้ง การส่งงานทุกครั้ง และคุณภาพของผลงานผ่านเกณฑ์ที่กำหนด
ความมีวินัย ประกอบด้วย การไม่พูดคุยหยอกล้อกันในห้องเรียน การปฏิบัติตามกฎของห้องเรียนอย่างเคร่งครัด การยอมรับข้อตกลงของกลุ่ม
ความรับผิดชอบ ประกอบด้วย ความตรงเวลาในการส่งงาน การมีส่วนร่วมในการทำงานกลุ่ม และการเอาใจใส่จดจ่ออยู่กับงานจนกว่างานนั้นจะสำเร็จ


ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

๑. ได้ทราบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่สอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์
ทำให้ครูสามารถใช้วิธีสอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ ในการเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
วิชาประวัติศาสตร์ของนักเรียนให้สูงขึ้น

๒. ได้ทราบทักษะกระบวนการทำงานกลุ่มของนักเรียนที่สอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ ทำให้ครูสามารถใช้วิธีสอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ ในการพัฒนาทักษะกระบวนการทำงานกลุ่มของนักเรียนที่เรียนวิชาประวัติศาสตร์

๓. ได้ทราบคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนที่สอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์
ทำให้ครูสามารถใช้วิธีสอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ ในการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนที่เรียนวิชาประวัติศาสตร์

๔. ครูผู้สอนได้แนวทางในการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ที่สอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ สามารถนำไปใช้ในการจัดทำแผนการเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์ในเนื้อหาอื่นต่อไป

แนวคิดทฤษฎี

การนิยามประวัติศาสตร์

สมศักดิ์ ชูโต (๒๕๒๗: ๑๒); ธิดา สาระยา (๒๕๓๙: ๑๐-๑๑) และสมนึก ปฏิปทานนท์ (๒๕๔๕: ๑๐๐) ให้นิยามประวัติศาสตร์ สรุปได้ว่า ประวัติศาสตร์ หมายถึง การเรียนรู้เหตุการณ์ เรื่องราว หรือการกระทำของมนุษย์ในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและวัฒนธรรมภายใต้มิติของเวลาและสถานที่ซึ่งอยู่ภายใต้ความเข้าใจอันดีระหว่างกลุ่มชนในสังคมนั้นๆ ในการสอนประวัติศาสตร์ สามารถจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้หลายรูปแบบ เช่น วิธีการสอนแบบบรรยาย ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมแพร่หลายในอดีต แต่ในปัจจุบันการสอนประวัติศาสตร์ควรมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีทักษะการคิดวิเคราะห์เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ โดยการวิเคราะห์หลักฐานทางประวัติศาสตร์ทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษรและหลักฐานที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร รวมถึงการบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของผู้รู้ในท้องถิ่น







หลักการสอนประวัติศาสตร์

กระทรวงศึกษาธิการ (๒๕๔๖: ๙-๑๐) กล่าวถึง หลักการสอนประวัติศาสตร์ให้มีประสิทธิภาพว่า การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ต้องจัดกิจกรรมให้มีความหมาย โดยเน้นแนวคิดที่สำคัญ ให้ผู้เรียนสามารถนำไปใช้ทั้งในและนอกโรงเรียนได้ จัดในลักษณะบูรณาการ โดยเชื่อมโยงความรู้ เหตุการณ์ ทั้งในอดีตและปัจจุบันเข้าด้วยกัน โดยการใช้แหล่งเรียนรู้ สื่อเทคโนโลยีที่สัมพันธ์กับสาระต่างๆ จัดโดยเน้นการพัฒนาค่านิยม จริยธรรม สามารถนำไปใช้จริงในการดำเนินชีวิต รับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม และจัดโดยเน้นการปฏิบัติ เพื่อพัฒนาให้ผู้เรียนได้คิดและตัดสินใจ สร้างสรรค์ความรู้ของตัวเอง และในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ควรจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นการปฏิบัติ เพื่อพัฒนาให้ผู้เรียนได้คิดและตัดสินใจ เป็นการส่งเสริมทักษะการคิดวิจารณญาณ และการคิดวิเคราะห์ จัดประเด็นหัวข้อที่ศึกษาให้มีแนวคิดกว้างขวาง เพื่อให้ผู้เรียนได้เลือกศึกษาด้วยตัวเอง สามารถชี้นำตัวเองได้ โดยกิจกรรมที่จัดควรยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ คือ ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ โดยให้ผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้ สร้างความหมายของสาระข้อความรู้ และค้นพบความรู้ด้วยตัวเอง โดยการศึกษาทำความเข้าใจ วิเคราะห์ แปลความหมาย สังเคราะห์ และสรุปความ ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ทั้งในแง่ของปริมาณในการมีส่วนร่วม และคุณภาพของกระบวนการ ให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันและกัน โดยการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ ความคิด และประสบการณ์

จากหลักการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนดังกล่าว สอดคล้องกับวิธีการทางประวัติศาสตร์ ซึ่งชาญวิทย์ เกษตรศิริ (อ้างในไพศาล เรียนทัพ, ๒๕๔: ๑๔); สมนึก ปฏิปทานนท์ (๒๕๔๕: ๑๐๐) และเฉลิม นิติเขตต์ปรีชา (๒๕: ๑๑๗-๑๑๙) ให้นิยามวิธีการทางประวัติศาสตร์ สรุปได้ว่า วิธีการสอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ เป็นวิธีการที่สามารถนำมาใช้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนในวิชาประวัติศาสตร์ทุกระดับชั้น แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้เรียนและวุฒิภาวะของผู้เรียนเป็นหลัก ซึ่งวิธีการทางประวัติศาสตร์สามารถสร้างทักษะในการดำเนินชีวิตอยู่ในสังคม โดยการใช้ประโยชน์จากการศึกษาที่มีเหตุผล และสามารถวิเคราะห์เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์สังเคราะห์จากข่าวสาร หรือเรื่องราวต่างๆ ที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตที่ดีและมีคุณภาพ ประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ ดังนี้

๑. การกำหนดหัวข้อ ปัญหา หรือสมมติฐาน เป็นการกำหนดเป้าหมายหรือประเด็นคำถามที่ต้องการศึกษา ในขอบเขตของคำถามเกี่ยวกับการศึกษาอะไร ช่วงเวลาไหน สมัยใด เพราะเหตุใด

๒. การแสวงหาความรู้โดยการรวบรวมหลักฐานประเภทต่างๆ เป็นการรวบรวมหลักฐานทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษรและไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งแก่ได้วัตถุโบราณ ร่องรอยถิ่นที่อยู่อาศัยหรือการดำเนินชีวิต

๓. การวิเคราะห์และประเมินคุณค่าของหลักฐาน เป็นการตรวจสอบ ประเมินค่าความน่าเชื่อถือของหลักฐาน และการตีความหลักฐานอย่างเป็นเหตุเป็นผล มีความเป็นกลาง และปราศจากอคติ

๔. การตีความและสังเคราะห์ข้อมูล เป็นการสรุปข้อเท็จจริงเพื่อหาคำตอบ ด้วยการเลือกสรรข้อเท็จจริงจากหลักฐานอย่างเคร่งครัด โดยไม่ใช้ค่านิยมของตนเอง ไปตัดสินพฤติกรรมของคนในอดีต โดยพยายามเข้าใจความคิดของคนในยุคนั้น

๕. การนำเสนอข้อมูล เป็นการเสนอเรื่องที่ศึกษาอย่างน่าสนใจ อธิบายอย่างสมเหตุสมผล โดยใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายมีความต่อเนื่อง มีการอ้างอิงข้อเท็จจริงเพื่อให้ได้งานทางประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าและมีความหมาย

ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่มีคุณภาพนอกจากวิธีการสอนที่สอดคล้องกับกิจกรรมการเรียนการสอนแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ส่งผลต่อคุณภาพของกิจกรรมการเรียนการสอน คือ การวัดผลประเมินกิจกรรม ซึ่งการวัดผลประเมินผลการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ กระทรวงศึกษาธิการ (๒๕๔๖: ๑๔-๑๗) กล่าวว่า หลักการวัดผลประเมินผลวิชาประวัติศาสตร์ควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงความสามารถที่แท้จริงออกมา สะท้อนให้เห็นแรงจูงใจและความตั้งใจในการเรียนรู้ พร้อมทั้งส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักกำกับและดูแลการประเมินการเรียนรู้ด้วยตัวเอง การประเมินจากการตัดสินผลการเรียนไม่ควรใช้ข้อมูลจากผลการสอบจากแบบทดสอบเพียงอย่างเดียว เพราะจะไม่เป็นธรรมกับผู้เรียนที่มีความหลากหลายด้านความสามารถ และคุณธรรม เพื่อให้การวัดผลประเมินผลเป็นไปตามหลักการดังกล่าว ในการประเมินการเรียนการสอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ เรื่อง ประวัติศาสตร์น่ารู้ ครูผู้สอนจึงประเมินผู้เรียนโดยการใช้เครื่องมือที่หลากหลาย ได้แก่ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบประเมินทักษะกระบวนการกลุ่ม และแบบประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ โดยกำหนดเกณฑ์การให้คะแนนแบบประเมินทักษะกระบวนการกลุ่มเป็นแบบผลรวม และกำหนดเกณฑ์การให้คะแนนแบบประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์เป็นแบบแยกส่วน


วิธีดำเนินการวิจัย

ขั้นตอนการวิจัยเพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่สอนด้วยวิธีการ
ทางประวัติศาสตร์ ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน เพื่อประเมินทักษะกระบวนกลุ่มของ
นักเรียนที่สอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์และเพื่อประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนที่สอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ มีดังนี้

๑. เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่สอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์
ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน ตามขั้นตอนดังนี้

๑.๑ สร้างแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ โดยกำหนดวัตถุประสงค์ของการสร้างแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา
ปีที่ ๔ คือ เพื่อให้ครูใช้เป็นเครื่องมือในการสอนวิชาประวัติศาสตร์เรื่องประวัติศาสตร์น่ารู้ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ ทำให้นักเรียนเรียนรู้ประวัติศาสตร์ได้อย่างลึกซึ้ง ตลอดจนใช้เป็นแนวทางในการสร้างแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ในเนื้อหาอื่นต่อไป จากนั้นก็ศึกษาแนวคิด ทฤษฎี งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการสร้างแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์เพื่อรวบรวมความรู้มาใช้เป็นแนวทางในการสร้างแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์แล้วจึงกำหนดองค์ประกอบของแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ซึ่งประกอบด้วย เนื้อหา ใบงาน แบบทดสอบก่อนเรียน และแบบทดสอบหลังเรียน จำนวน ๑๐ แผน ได้แก่ ปฐมนิเทศ แผนที่ ๑ วิธีการทางประวัติศาสตร์ แผนที่ ๒ ประวัติศาสตร์เบื้องต้น แผนที่ ๓ ศักราช แผนที่ ๔ การแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ไทย แผนที่ ๕ หลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทย แผนที่ ๖ แนวคิดเกี่ยวกับถิ่นเดิมของชนชาติไทย แผนที่ ๗ วัฒนธรรมไทย
แผนที่ ๘ ภูมิปัญญาไทย แผนที่ ๙ บุคคลสำคัญในประเทศไทย แผนที่ ๑๐ อาณาจักรโบราณในดินแดนประเทศไทย และปัจฉิมนิเทศ จากนั้นจึงนำแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ที่สร้างขึ้นไปตรวจสอบความตรงตามเนื้อหา โดยอาศัยการพิจารณาจากผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และการสร้างสื่อการเรียนการสอน จำนวน ๕ ท่าน ตรวจสอบแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ ว่าสอดคล้องและครอบคลุมเนื้อหาที่กำหนดหรือไม่ โดยมีเกณฑ์การพิจารณาความตรงของผู้เชี่ยวชาญอย่างน้อย ๓ ท่าน มีความเห็นว่าแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ที่สร้างขึ้นมีความสอดคล้องกับเนื้อหา นั่นคือมีค่า IOC (Item Objective Congruenc) หรือค่าดัชนีความสอดคล้องตั้งแต่ ๐.๖๐ ขึ้นไป คัดเลือกแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ที่ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่าสอดคล้องกับเนื้อหา และปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมกับแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ ที่เห็นว่ายังมีข้อบกพร่องเกี่ยวกับสำนวนภาษา เพื่อให้การสื่อความหมายชัดเจนขึ้นตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ

๑.๒ ตรวจสอบภาษาที่ใช้ในการสร้างแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ ว่าถูกต้อง ชัดเจน รัดกุมหรือไม่ โดยนำแผนการจัดการเรียนรู้ไปทดลองใช้ครั้งที่ ๑ กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ โรงเรียนเบญจลักษ์พิทยา อำเภอเบญจลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน ๖ คน จากนั้นตรวจสอบคุณภาพของแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ ตามเกณฑ์ประสิทธิภาพกับกลุ่มเล็ก โดยนำแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ไปทดลองใช้ ครั้งที่ ๒ กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ โรงเรียนเบญจลักษ์พิทยา อำเภอเบญจลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน ๑๕ คน แล้วจึงเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่สอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน พร้อมทั้งตรวจสอบคุณภาพของแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ตามเกณฑ์ประสิทธิภาพ ๘๐/๘๐ โดยนำแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ไปทดลองใช้ ครั้งที่ ๓ กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ โรงเรียนหนองหว้าประชาสรรค์ อำเภอเบญจลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน
๔๕ คน

๒. ประเมินทักษะกระบวนการกลุ่มและประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนที่สอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ ตามขั้นตอน ดังนี้

๒.๑ สร้างแบบประเมินทักษะกระบวนการกลุ่ม และแบบประเมินคุณลักษณะ
อันพึงประสงค์ โดยการกำหนดวัตถุประสงค์ของการสร้างแบบประเมินทักษะกระบวนการกลุ่มและแบบประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ซึ่งวัตถุประสงค์ของการสร้างแบบประเมินทักษะกระบวนการกลุ่มเพื่อให้ครูใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินทักษะกระบวนการกลุ่มของนักเรียน
ที่สอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ และวัตถุประสงค์ของการสร้างแบบประเมินคุณลักษณะ
อันพึงประสงค์เพื่อให้ครูใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน
ที่สอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ หลังจากนั้นศึกษาแนวคิด ทฤษฎี งานวิจัยที่เกี่ยวข้องด้วยวิธีการศึกษาเอกสาร ตำรา และผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการสร้างแบบประเมินทักษะกระบวนการกลุ่มและการสร้างแบบประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ เพื่อรวบรวมความรู้เกี่ยวกับนิยาม
ทักษะกระบวนการกลุ่ม นิยามคุณลักษณะอันพึงประสงค์ การประเมินทักษะกระบวนการ
การประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ และเกณฑ์การให้ แล้วนำข้อสรุปที่ได้มาใช้เป็นแนวทาง
ในการสร้างแบบประเมินทักษะกระบวนการกลุ่มและแบบประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์
แล้วจึงกำหนดกรอบการประเมินทักษะกระบวนการกลุ่มและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ โดยกรอบการประเมินทักษะกระบวนการกลุ่ม กำหนดตามขั้นตอนการสอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ ๕ ขั้นตอน ได้แก่ การกำหนดหัวข้อ ปัญหา หรือสมมติฐาน การแสวงหาความรู้โดยการรวบรวมหลักฐาน การวิเคราะห์และประเมินคุณค่าของหลักฐาน การตีความและสังเคราะห์ข้อมูล และการนำเสนอข้อมูล ส่วนกรอบการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์กำหนดประเด็นที่ประเมิน ๓ ประเด็น ได้แก่ การใฝ่รู้ใฝ่เรียน ความมีวินัยและความรับผิดชอบ แล้วจึงตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาโดยผู้เชี่ยวชาญ โดยผู้วิจัยนำแบบประเมินทักษะกระบวนการกลุ่มและแบบประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่สร้างขึ้นไปให้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านประวัติศาสตร์และการสร้างสื่อการเรียนการสอน จำนวน ๕ ท่าน ตรวจสอบรายการประเมินในแบบประเมินทักษะกระบวนการกลุ่มและแบบประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ว่าสอดคล้องกับพฤติกรรมที่ต้องการวัดหรือไม่

๒.๒ ทดลองประเมินนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ โรงเรียนหนองหว้า
ประชาสรรค์ อำเภอเบญจลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน ๔๕ คนที่สอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ โดยครูผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์จำนวน ๑ คนทำการประเมินนักเรียนจำนวน ๔๕ คน และนักเรียนที่เรียนวิชาประวัติศาสตร์ จำนวน ๔๕ คน เป็นผู้ประเมินทักษะกระบวนการกลุ่มของตนเอง ในประเด็นต่างๆ ดังนี้ การกำหนดหัวข้อปัญหา หรือสมมติฐาน การแสวงหาความรู้โดยการรวบรวมหลักฐาน การวิเคราะห์และประเมินคุณค่าของหลักฐาน การตีความและสังเคราะห์ข้อมูล และการนำเสนอข้อมูล ส่วนการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ประเมินโดยครูผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์จำนวน ๑ คน ทำการประเมินนักเรียนทั้ง ๔๕ คน ในประเด็นต่างๆ ดังนี้ การใฝ่รู้
ใฝ่เรียน ความมีวินัยและความรับผิดชอบ

ผลการวิจัย

๑. ผลการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่สอนด้วยวิธีการ
ทางประวัติศาสตร์ เรื่อง ประวัติศาสตร์น่ารู้

ผู้วิจัยได้นำแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ไปทดลองสอนเพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ โดยการนำแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ไปทดลองครั้งที่ ๓ กับนักเรียนกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ โรงเรียนหนองหว้าประชาสรรค์ อำเภอเบญจลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน ๔๕ คน โดยนักเรียนที่นำมาทดลองเป็นนักเรียนที่มีความสามารถในการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ในระดับเก่ง ปานกลาง และอ่อน ผลปรากฏว่า คะแนนเฉลี่ยของนักเรียนที่สอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์เรื่อง ประวัติศาสตร์น่ารู้ หลังการเรียนสูงกว่าก่อนการเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๕

๒. ผลการประเมินทักษะกระบวนการกลุ่มของนักเรียนที่สอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ เรื่อง ประวัติศาสตร์น่ารู้

ผู้วิจัยได้นำแบบประเมินทักษะกระบวนการกลุ่มไปประเมินนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ โรงเรียนหนองหว้าประชาสรรค์ อำเภอเบญจลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน ๔๕ คน โดยครูผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์จำนวน ๑ คน และนักเรียนที่เรียนวิชาประวัติศาสตร์ จำนวน ๔๕ คน เป็นผู้ประเมินตนเอง ในประเด็นต่างๆ ดังนี้ การกำหนดหัวข้อ ปัญหา หรือสมมติฐาน การแสวงหาความรู้โดยการรวบรวมหลักฐาน การวิเคราะห์และประเมินคุณค่าของหลักฐาน การตีความและสังเคราะห์ข้อมูล และการนำเสนอข้อมูล โดยมีเกณฑ์ในการพิจารณา คือ ร้อยละ ๘๐ ของนักเรียนที่สอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์มีการปฏิบัติอยู่ในระดับบ่อยครั้งขึ้นไป ผลปรากฏว่า การกำหนดหัวข้อปัญหา หรือสมมติฐาน มีระดับของการปฏิบัติอยู่ในระดับบ่อยครั้งขึ้นไป ๘๘.๘๘% การแสวงหาความรู้โดยการรวบรวมหลักฐาน มีระดับของการปฏิบัติอยู่ในระดับบ่อยครั้งขึ้นไป ๙๒.๒๒% การวิเคราะห์และประเมินคุณค่าของหลักฐาน มีระดับของการปฏิบัติอยู่ในระดับบ่อยครั้งขึ้นไป ๘๐% การตีความและสังเคราะห์ข้อมูล มีระดับของการปฏิบัติอยู่ในระดับบ่อยครั้งขึ้นไป ๘๒.๐๑% และการนำเสนอข้อมูล มีระดับของการปฏิบัติอยู่ในระดับบ่อยครั้งขึ้นไป ๘๐%

๓. ผลการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนที่สอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ เรื่อง ประวัติศาสตร์น่ารู้

ผู้วิจัยได้นำแบบประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ไปทดลองประเมินนักเรียน
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ โรงเรียนหนองหว้าประชาสรรค์ อำเภอเบญจลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน ๔๕ คน โดยครูผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์จำนวน ๑ คน ทำการประเมินนักเรียนทั้ง ๔๕ คน ในประเด็นต่างๆ ดังนี้ การใฝ่เรียนใฝ่รู้ ความรับผิดชอบ และความมีวินัย โดยมีเกณฑ์การพิจารณา คือ ร้อยละ ๘๐ ของนักเรียนที่สอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ได้รับการประเมินในระดับดีขึ้นไป ผลปรากฏว่า การใฝ่รู้ ใฝ่เรียน มีระดับของการประเมินอยู่ในระดับดีขึ้นไป ๘๖.๖๗% ความมีวินัยมีระดับของการประเมินอยู่ในระดับดีขึ้นไป ๙๓.๓๓% และความรับผิดชอบ มีระดับของการประเมินอยู่ในระดับดีขึ้นไป ๘๔.๔๔%

ข้อเสนอแนะ

ข้อเสนอแนะสำหรับการนำแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ไปใช้

๑. การนำแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ไปใช้ควรจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นนักเรียนเป็นสำคัญ คือ เปิดโอกาสให้นักเรียนแสวงหาความรู้ด้วยตัวเอง และกระตุ้นให้นักเรียนแสดงความคิดเห็นตามขั้นตอนในวิธีการทางประวัติศาสตร์ เพื่อให้นักเรียนเกิดความเข้าใจในการเรียน และเรียนรู้การแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง

๒. การนำแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ไปใช้ควรใช้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ โดยปฏิบัติตามคู่มือการใช้แผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์(สำหรับครู) เนื่องจากเนื้อหาเรื่องประวัติศาสตร์น่ารู้ผู้วิจัยได้เรียงลำดับเนื้อหาโดยพิจารณาจากเกณฑ์การคัดเลือกเนื้อหาของกระทรวงศึกษาธิการ (กระทรวงศึกษาธิการ, ๒๕๔๖) ซึ่งในการจัดลำดับเนื้อหาของแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ ผู้วิจัยได้เรียงลำดับเนื้อหาจากง่ายไปยาก โดยเนื้อหาแต่ละเนื้อหาจะสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน ในลักษณะที่เนื้อหาที่อยู่ก่อนจะเป็นพื้นฐานของเนื้อหาลำดับต่อไป ในการใช้แผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์จึงควรใช้ตามคู่มือการใช้แผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ (สำหรับครู)

ข้อเสนอแนะสำหรับการทำวิจัยครั้งต่อไป

๑. ควรมีการทำวิจัยในเรื่องของการศึกษาผลการสอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ที่มีผลต่อการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน เพื่อให้นักเรียนได้รับการพัฒนาทางด้านการคิดวิเคราะห์

๑. ควรมีการทำวิจัยในชั้นเรียน เพื่อแก้ปัญหาในชั้นเรียนโดยผู้สอนอาจใช้แผนการจัดการ
เรียนรู้ที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นเป็นแนวทางในการสร้างแผนการจัดการเรียนรู้ในเรื่องอื่นๆที่เป็นปัญหาในการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ของนักเรียน

เอกสารและสิ่งอ้างอิง

เฉลิม นิติเขตต์ปรีชา. ๒๕๔๕. เทคนิควิธีการสอนประวัติศาสตร์. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์
ไทยวัฒนาพานิช.

ธิดา สาระยา. ๒๕๒๗. ทวารวดี: ต้นประวัติศาสตร์ไทย. สถาบันอยุธยาศึกษา มหาวิทยาลัย
ราชภัฏพระนครศรีอยุธยา.

ไพศาล เรียนทัพ. ๒๕๔๔. ผลของการสอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่อง การตั้งถิ่นฐานที่มันคงของอาณาจักรไทยในรายวิชา ส๐๒๘ ของนักเรียนชั้นมัธยม ศึกษาปีที่ ๑ โรงเรียนกำแพงเพชรพิทยานิคม จังหวัดกำแพงเพชร. วิทยานิพนธ์ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาหลักสูตรและการสอน, มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

ศึกษาธิการ, กระทรวง. ๒๕๔๔. หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา
ศาสนา และวัฒนธรรม. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.

_______. ๒๕๔๖. แนวทางการประเมินผลด้วยทางเลือกใหม่ ตามหลักสูตร
การศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช ๒๕๔๔ กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์.

สมนึก ปฏิปทานนท์. ๒๕๔๕. การเรียนการสอนตาม พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ
แนวทางใหม่สำหรับครูสังคมศึกษา.วารสารคุรุศาสตร์ ๒(๖): ๑๐๐-๑๐๕.

สมศักดิ์ ชูโต. ๒๕๒๗. ปรัชญาประวัติศาสตร์. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์พิฆเณศ.