วันจันทร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2551

วิธีดำเนินการวิจัย

ขั้นตอนการวิจัยเพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่สอนด้วยวิธีการ
ทางประวัติศาสตร์ ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน เพื่อประเมินทักษะกระบวนกลุ่มของ
นักเรียนที่สอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์และเพื่อประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนที่สอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ มีดังนี้

๑. เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่สอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์
ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน ตามขั้นตอนดังนี้

๑.๑ สร้างแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ โดยกำหนดวัตถุประสงค์ของการสร้างแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา
ปีที่ ๔ คือ เพื่อให้ครูใช้เป็นเครื่องมือในการสอนวิชาประวัติศาสตร์เรื่องประวัติศาสตร์น่ารู้ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ ทำให้นักเรียนเรียนรู้ประวัติศาสตร์ได้อย่างลึกซึ้ง ตลอดจนใช้เป็นแนวทางในการสร้างแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ในเนื้อหาอื่นต่อไป จากนั้นก็ศึกษาแนวคิด ทฤษฎี งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการสร้างแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์เพื่อรวบรวมความรู้มาใช้เป็นแนวทางในการสร้างแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์แล้วจึงกำหนดองค์ประกอบของแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ซึ่งประกอบด้วย เนื้อหา ใบงาน แบบทดสอบก่อนเรียน และแบบทดสอบหลังเรียน จำนวน ๑๐ แผน ได้แก่ ปฐมนิเทศ แผนที่ ๑ วิธีการทางประวัติศาสตร์ แผนที่ ๒ ประวัติศาสตร์เบื้องต้น แผนที่ ๓ ศักราช แผนที่ ๔ การแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ไทย แผนที่ ๕ หลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทย แผนที่ ๖ แนวคิดเกี่ยวกับถิ่นเดิมของชนชาติไทย แผนที่ ๗ วัฒนธรรมไทย
แผนที่ ๘ ภูมิปัญญาไทย แผนที่ ๙ บุคคลสำคัญในประเทศไทย แผนที่ ๑๐ อาณาจักรโบราณในดินแดนประเทศไทย และปัจฉิมนิเทศ จากนั้นจึงนำแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ที่สร้างขึ้นไปตรวจสอบความตรงตามเนื้อหา โดยอาศัยการพิจารณาจากผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และการสร้างสื่อการเรียนการสอน จำนวน ๕ ท่าน ตรวจสอบแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ ว่าสอดคล้องและครอบคลุมเนื้อหาที่กำหนดหรือไม่ โดยมีเกณฑ์การพิจารณาความตรงของผู้เชี่ยวชาญอย่างน้อย ๓ ท่าน มีความเห็นว่าแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ที่สร้างขึ้นมีความสอดคล้องกับเนื้อหา นั่นคือมีค่า IOC (Item Objective Congruenc) หรือค่าดัชนีความสอดคล้องตั้งแต่ ๐.๖๐ ขึ้นไป คัดเลือกแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ที่ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่าสอดคล้องกับเนื้อหา และปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมกับแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ ที่เห็นว่ายังมีข้อบกพร่องเกี่ยวกับสำนวนภาษา เพื่อให้การสื่อความหมายชัดเจนขึ้นตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ

๑.๒ ตรวจสอบภาษาที่ใช้ในการสร้างแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ ว่าถูกต้อง ชัดเจน รัดกุมหรือไม่ โดยนำแผนการจัดการเรียนรู้ไปทดลองใช้ครั้งที่ ๑ กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ โรงเรียนเบญจลักษ์พิทยา อำเภอเบญจลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน ๖ คน จากนั้นตรวจสอบคุณภาพของแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ ตามเกณฑ์ประสิทธิภาพกับกลุ่มเล็ก โดยนำแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ไปทดลองใช้ ครั้งที่ ๒ กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ โรงเรียนเบญจลักษ์พิทยา อำเภอเบญจลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน ๑๕ คน แล้วจึงเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่สอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน พร้อมทั้งตรวจสอบคุณภาพของแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ตามเกณฑ์ประสิทธิภาพ ๘๐/๘๐ โดยนำแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ไปทดลองใช้ ครั้งที่ ๓ กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ โรงเรียนหนองหว้าประชาสรรค์ อำเภอเบญจลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน
๔๕ คน

๒. ประเมินทักษะกระบวนการกลุ่มและประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนที่สอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ ตามขั้นตอน ดังนี้

๒.๑ สร้างแบบประเมินทักษะกระบวนการกลุ่ม และแบบประเมินคุณลักษณะ
อันพึงประสงค์ โดยการกำหนดวัตถุประสงค์ของการสร้างแบบประเมินทักษะกระบวนการกลุ่มและแบบประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ซึ่งวัตถุประสงค์ของการสร้างแบบประเมินทักษะกระบวนการกลุ่มเพื่อให้ครูใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินทักษะกระบวนการกลุ่มของนักเรียน
ที่สอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ และวัตถุประสงค์ของการสร้างแบบประเมินคุณลักษณะ
อันพึงประสงค์เพื่อให้ครูใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน
ที่สอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ หลังจากนั้นศึกษาแนวคิด ทฤษฎี งานวิจัยที่เกี่ยวข้องด้วยวิธีการศึกษาเอกสาร ตำรา และผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการสร้างแบบประเมินทักษะกระบวนการกลุ่มและการสร้างแบบประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ เพื่อรวบรวมความรู้เกี่ยวกับนิยาม
ทักษะกระบวนการกลุ่ม นิยามคุณลักษณะอันพึงประสงค์ การประเมินทักษะกระบวนการ
การประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ และเกณฑ์การให้ แล้วนำข้อสรุปที่ได้มาใช้เป็นแนวทาง
ในการสร้างแบบประเมินทักษะกระบวนการกลุ่มและแบบประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์
แล้วจึงกำหนดกรอบการประเมินทักษะกระบวนการกลุ่มและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ โดยกรอบการประเมินทักษะกระบวนการกลุ่ม กำหนดตามขั้นตอนการสอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ ๕ ขั้นตอน ได้แก่ การกำหนดหัวข้อ ปัญหา หรือสมมติฐาน การแสวงหาความรู้โดยการรวบรวมหลักฐาน การวิเคราะห์และประเมินคุณค่าของหลักฐาน การตีความและสังเคราะห์ข้อมูล และการนำเสนอข้อมูล ส่วนกรอบการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์กำหนดประเด็นที่ประเมิน ๓ ประเด็น ได้แก่ การใฝ่รู้ใฝ่เรียน ความมีวินัยและความรับผิดชอบ แล้วจึงตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาโดยผู้เชี่ยวชาญ โดยผู้วิจัยนำแบบประเมินทักษะกระบวนการกลุ่มและแบบประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่สร้างขึ้นไปให้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านประวัติศาสตร์และการสร้างสื่อการเรียนการสอน จำนวน ๕ ท่าน ตรวจสอบรายการประเมินในแบบประเมินทักษะกระบวนการกลุ่มและแบบประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ว่าสอดคล้องกับพฤติกรรมที่ต้องการวัดหรือไม่

๒.๒ ทดลองประเมินนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ โรงเรียนหนองหว้า
ประชาสรรค์ อำเภอเบญจลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน ๔๕ คนที่สอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ โดยครูผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์จำนวน ๑ คนทำการประเมินนักเรียนจำนวน ๔๕ คน และนักเรียนที่เรียนวิชาประวัติศาสตร์ จำนวน ๔๕ คน เป็นผู้ประเมินทักษะกระบวนการกลุ่มของตนเอง ในประเด็นต่างๆ ดังนี้ การกำหนดหัวข้อปัญหา หรือสมมติฐาน การแสวงหาความรู้โดยการรวบรวมหลักฐาน การวิเคราะห์และประเมินคุณค่าของหลักฐาน การตีความและสังเคราะห์ข้อมูล และการนำเสนอข้อมูล ส่วนการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ประเมินโดยครูผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์จำนวน ๑ คน ทำการประเมินนักเรียนทั้ง ๔๕ คน ในประเด็นต่างๆ ดังนี้ การใฝ่รู้
ใฝ่เรียน ความมีวินัยและความรับผิดชอบ

ไม่มีความคิดเห็น: